ประเด็นใหญ่ในสังคมไทย ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากในตอนนี้
คงหนีไม่พ้นเรื่องราคาอาหารที่สูงขึ้น ที่กระทบกับคนจำนวนมาก
และจริง ๆ แล้วเรื่องราคาสินค้าที่แพงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย
แต่หลายประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีคือ
การปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ
แต่หลายคนอาจแปลกใจ
เพราะขณะที่เงินเฟ้อในต่างประเทศกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่เงินเฟ้อในประเทศไทยแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศ
เรื่องนี้มันเป็นเพราะอะไร ?
ในทางเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลที่นิยมใช้ในการอธิบายว่า ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
คือการเปลี่ยนแปลงของ “อัตราเงินเฟ้อ”
- หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก หมายความว่า ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปกำลังเพิ่มขึ้นมาก
- หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นน้อย หมายความว่า ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปกำลังเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากและรวดเร็ว เงินจำนวนเท่าเดิมที่เราถืออยู่ จะมีอำนาจการซื้อที่ลดลงมาก
พูดง่าย ๆ ก็คือ เราจะรู้สึกว่าของแพงขึ้นมาก
ในทำนองเดียวกัน ผู้ผลิตก็จะได้รับผลกระทบเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการขาย และทำกำไรของธุรกิจ จนธุรกิจอาจต้องเพิ่มราคาสินค้า หรือในขณะเดียวกันก็ต้องลดต้นทุนด้วยการลดการจ้างงาน
ซึ่งหากเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ ก็จะกระทบกับการบริโภค และการจ้างงานของธุรกิจ จนสุดท้าย จะส่งผลเสียหายต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
ทีนี้เราลองมาดูอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา
ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2564 ที่ผ่านมา
สิ้นไตรมาส 2 อัตราเงินเฟ้อ 5.4%
สิ้นไตรมาส 3 อัตราเงินเฟ้อ 5.4%
สิ้นไตรมาส 4 อัตราเงินเฟ้อ 7.0%
ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกานั้น บอกว่า ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐอเมริกานั้นสูงสุดในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว..
และเมื่อดูจากตัวเลขแล้วก็ต้องบอกว่า
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่มีทิศทางปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นหลักฐานสำคัญที่บอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เนื่องจากฝั่งอุปสงค์ หรือความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการต่าง ๆ ของคนอเมริกันนั้น กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ฝั่งอุปทาน หรือฝั่งผลิตนั้นกลับมาโตตามไม่ทัน
ก็ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ อย่างอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ หมู ปลา ไข่ไก่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 12% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ยังเกิดขึ้นในเขตยุโรป
เช่น ในเดือนธันวาคม ที่อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยุโรป พุ่งขึ้นสู่ระดับ 5% สูงสุดในรอบ 25 ปี
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ที่กำลังได้รับผลกระทบจากราคาข้าวของที่กำลังแพงขึ้น จนทำให้คนจำนวนมากเริ่มได้รับความเดือดร้อน
ถ้าเราไปดูอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในปี 2564 ที่ผ่านมา
สิ้นไตรมาส 2 อัตราเงินเฟ้อ 1.3%
สิ้นไตรมาส 3 อัตราเงินเฟ้อ 1.7%
สิ้นไตรมาส 4 อัตราเงินเฟ้อ 2.2%
จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยนั้น ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังต่ำกว่าในหลายประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรป
ซึ่งเรื่องนี้อาจเกิดมาจาก 2 ประเด็น คือ
- ประเด็นแรก: โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้การฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้จึงแตกต่างกัน
กรณีของประเทศไทย เศรษฐกิจของเราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว สูงถึงประมาณ 20% ของ GDP ซึ่งถือว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กว่าจะฟื้นตัวกลับมาจุดเดิม คงต้องใช้เวลาไม่น้อย
บวกกับการจ้างงานของไทยยังตกต่ำ รายได้ของครัวเรือนที่ยังไม่สามารถปรับเพิ่ม ทำให้กำลังซื้อนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ
ซึ่งกรณีนี้จะแตกต่างจากเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ที่พึ่งพาการบริโภค และการลงทุนในประเทศเป็นหลัก เห็นได้จากกรณีของสหรัฐอเมริกา ที่พึ่งพาภาคการบริโภคภายในประเทศประมาณ 70%
ทำให้เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว คนมีงานทำและมีรายได้ การจับจ่ายใช้สอยก็ฟื้นตัวเร็วมาก และส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ จึงปรับตัวขึ้นมากกว่าประเทศไทย
การที่ราคาสินค้าขึ้นเพราะความต้องการการบริโภคสูงขึ้นจะเรียกว่า Demand-Pull
ซึ่ง Demand-Pull ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่ในทางกลับกัน เงินเฟ้อของประเทศไทยจะมาจาก Cost-Push หรือราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าสูงขึ้น จึงทำให้ราคาสินค้าต้องปรับขึ้นตาม..
ประเด็นที่สอง: ประเทศไทยไม่ได้พึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศในการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคมากเหมือนหลายประเทศ
เรื่องนี้ทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าในประเทศไทยปรับสูงขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ
การนำเข้าวัตถุดิบของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง
ในขณะที่ราคาพลังงานและเชื้อเพลิง ที่ถือเป็นหนึ่งส่วนสำคัญในตะกร้าเงินเฟ้อ
ช่วง 11 เดือนแรก ไทยมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 35,000 ล้านบาท หรือ 14% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
และแม้ว่าราคาพลังงานในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ภาครัฐของไทยก็ใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ไว้อยู่ระดับหนึ่ง
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คงทำให้เห็นภาพกว้างได้ว่า
อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยแม้จะปรับตัวขึ้นบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป
อย่างไรก็ตาม วันนี้เราเริ่มเห็นกันแล้วว่า ราคาสินค้าและบริการหลายอย่าง เริ่มขึ้นราคากันบ้างแล้ว ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า จะทำให้ทิศทางเงินเฟ้อของไทยหลังจากนี้ เป็นอย่างไร
ถ้าเงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นเร็วและยาวนาน แบงก์ชาติไทย ก็อาจต้องเข้ามาควบคุมและสกัดไม่ให้เงินเฟ้อมากเกินไป ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ซึ่งโดยปกติแล้ว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
แต่ถ้าหากต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีอยู่
ประเทศไทยก็อาจเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “Stagflation” หรือภาวะ “เศรษฐกิจไม่ดี แต่ของแพง”
ซึ่งเป็นเรื่องที่คงไม่มีใครอยากเจอ นั่นเอง
ที่มา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น