ประชากรญี่ปุ่นลดลง แต่ทำไม “เมืองโอกินาวะ” โตสวนทาง

 Home 

จากจุดสูงสุดในปี 2008 ที่มีประชากร 128 ล้านคน

จนทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาการเพิ่มจำนวนของบ้านร้าง ในเขตชนบทของประเทศ

ซึ่งสวนทางกับเขตเมืองใหญ่ที่ยังมีประชากรอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ เช่น กรุงโตเกียวและปริมณฑล จังหวัดโอซากะ และจังหวัดไอจิ ที่เป็นศูนย์กลางการเงินและอุตสาหกรรมที่สำคัญ

แต่มีอีกหนึ่งจังหวัดที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางธุรกิจหรืออุตสาหกรรม แต่กำลังมีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

จังหวัดนั้นคือ “โอกินาวะ”

อะไรที่ทำให้โอกินาวะมีประชากรเพิ่มขึ้น สวนทางกับจังหวัดอื่น ๆ ของญี่ปุ่นที่มีประชากรลดลง

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักโอกินาวะกันสักนิด..

จังหวัดโอกินาวะ เป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ห่างจากกรุงโตเกียวราว 900 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 100 เกาะ 

โดยมีเกาะที่ใหญ่ที่สุด คือ เกาะโอกินาวะ 

เป็นที่ตั้งของเมืองหลวง คือ เมืองนาฮะ และสนามบินหลักของเกาะ คือ สนามบินนาฮะ 

ซึ่งเป็นสนามบินที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดอันดับ 6 ของประเทศญี่ปุ่น

ด้วยความที่อยู่ใต้สุด ไม่ไกลจากเกาะไต้หวัน ทำให้โอกินาวะมีสภาพภูมิอากาศอบอุ่นกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของญี่ปุ่น จังหวัดแห่งนี้จึงมีพืชผลที่หาไม่ได้จากเขตอื่น ๆ ของประเทศ เช่น สับปะรด มะม่วง และส้มทันคัง

และด้วยความที่ทะเลอบอุ่นกว่าที่อื่น และมีอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ โอกินาวะจึงเป็นสถานที่พักตากอากาศยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น 8 ล้านคน และชาวต่างชาติอีกราว 2 ล้านคน โดยเฉพาะชาวจีน และไต้หวัน

จังหวัดโอกินาวะมีพื้นที่เพียง 2,271 ตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับจังหวัดเล็ก ๆ ของไทยอย่างนครปฐม 

แต่มีประชากรถึง 1,470,000 คน ทำให้มีความหนาแน่นของประชากร 647 คนต่อตารางกิโลเมตร

โอกินาวะเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดอันดับ 9 ของญี่ปุ่น จากทั้งหมด 47 จังหวัด

และเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่มีประชากรหนาแน่นติด Top 10 โดยที่ไม่ได้เป็นเขตศูนย์กลางธุรกิจการเงิน หรือเขตอุตสาหกรรม

แต่เดิมจังหวัดโอกินาวะ เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรริวกิว อาณาจักรอิสระที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน 

ต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นในปี 1609 และกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นอย่างเต็มตัวในปี 1879 หลังการปฏิรูปเมจิ 

จนเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม 

สหรัฐอเมริกาได้ยึดโอกินาวะเป็นที่ตั้งฐานทัพ

จนถึงปี 1972 สหรัฐอเมริกาจึงมอบโอกินาวะคืนให้ญี่ปุ่น แต่เกาะแห่งนี้ก็ยังคงเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน มีทหารอเมริกันอยู่ในจังหวัดโอกินาวะราว ๆ 20,000 คน

เศรษฐกิจของโอกินาวะราว 5-6% จึงขึ้นอยู่กับการจับจ่ายใช้สอยของทหารที่มาตั้งฐานทัพ และครอบครัวชาวอเมริกัน

ด้วยความที่โอกินาวะมีความสัมพันธ์กับจีนมาช้านาน ตั้งแต่สมัยเป็นอาณาจักรริวกิว ทำให้ผู้คนที่นี่มีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างญี่ปุ่นกับจีนอยู่ไม่น้อย 

ทั้งอาหารการกิน สถาปัตยกรรม ไปจนถึงการฉลองในวันตรุษจีน 

แต่ไม่ใช่แค่ชาวจีนเท่านั้น ยังมีวัฒนธรรมของหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนามผสมอยู่ด้วย

การเป็นที่หลอมรวมของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้ผู้คนในโอกินาวะมีความแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไป สะท้อนมาถึงสภาพสังคมที่ไม่เคร่งเครียด และไม่เร่งรีบเท่าเมืองใหญ่ ๆ 

และด้วยสภาพอากาศที่อบอุ่น อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีชาวเมืองใหญ่จำนวนไม่น้อย ทั้งจากกรุงโตเกียว โอซากะ และนาโกยะ อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดโอกินาวะ

ความไม่เคร่งเครียด และใช้ชีวิตสบาย ๆ สะท้อนมายังสภาพสังคมหลายอย่าง 

หนึ่งในนั้นคือ การที่โอกินาวะเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเจริญพันธุ์สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น

ต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี !

ในปี 2019 ผู้หญิงชาวโอกินาวะ 1 คน มีบุตรเฉลี่ย 1.82 คน 

ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นที่มีบุตรเฉลี่ย 1.36 คน 

และสูงกว่าผู้หญิงชาวโตเกียวที่มีบุตรเพียง 1.15 คน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดในประเทศ

การมีอัตราเจริญพันธุ์สูงสุดของประเทศ บวกกับผู้คนจากเมืองใหญ่ที่อพยพเข้ามา

เพื่อหลีกหนีจากความเคร่งเครียดวุ่นวาย ทำให้จำนวนประชากรของจังหวัดโอกินาวะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ปี 2010 ประชากร 1,393,000 คน

ปี 2015 ประชากร 1,434,000 คน

ปี 2020 ประชากร 1,470,000 คน

ไม่เว้นแม้แต่ในปี 2021 ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อย เลือกย้ายถิ่นฐานออกจากเมืองใหญ่ 

แล้วมาทำงานแบบ Work From Home ในเขตต่างจังหวัด เพื่อลดค่าครองชีพ 

โอกินาวะก็เป็นอีกจุดหมายปลายทางที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม การที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น กลับไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของโอกินาวะมากนัก

เพราะจังหวัดแห่งนี้ไม่ได้เป็นเมืองการค้า หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มี GDP ต่อหัวต่ำสุดของประเทศ 

โดยมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ราว 27,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี 

ต่ำกว่า GDP ต่อหัวของชาวญี่ปุ่น 40,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

และต่ำกว่า GDP ต่อหัวของผู้คนในกรุงโตเกียวที่ 73,000 ดอลลาร์สหรัฐ

การมีผู้คนเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของโอกินาวะเริ่มประสบปัญหาการจ้างงาน 

และมีอัตราว่างงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่น

ซ้ำร้ายเศรษฐกิจของโอกินาวะยังขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ซึ่งภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด 19 

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนโอกินาวะในปี 2020 ลดลงกว่า 63% จากจุดสูงสุด 10 ล้านคนในปี 2019  และยังคงซบเซาต่อเนื่องมาจนถึงปี 2021

อย่างไรก็ตาม จังหวัดโอกินาวะก็มีแผนพัฒนาเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 

ทั้งการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศ และการเป็นศูนย์กลางในการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพราะทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่างญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป ว่าเศรษฐกิจของโอกินาวะจะสามารถเติบโตรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่

แต่การเป็นจังหวัดเดียวที่มีประชากรเพิ่มขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่จังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี 

ไม่ได้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรม

ก็สะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างในสังคมญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความเคร่งเครียด

บางทีสิ่งที่ผู้คนญี่ปุ่นตามหา 

อาจมีอะไรที่มากกว่า แค่เรื่องของเงิน ก็เป็นได้

ที่มา 

ความคิดเห็น