บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูง ไม่ได้แปลว่าบริษัทนั้น มีมูลค่าเยอะเสมอไป

 Home 

ทุกคนเคยได้ยินคำว่าทุนจดทะเบียนบริษัท

และทุกคนน่าจะคิดว่าบริษัทไหนมีทุนจดทะเบียนสูง

บริษัทนั้นย่อมเป็นบริษัทใหญ่ ที่มีมูลค่าสูงตาม

แต่รู้หรือไม่ว่า มูลค่าบริษัท และทุนจดทะเบียน มันไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป

แล้วทั้ง 2 คำนี้ มันมีความหมาย และเกี่ยวข้องกันอย่างไร

เราจะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ

โดยปกติแล้วคำว่ามูลค่าบริษัทคือจะวัดจาก มูลค่าที่นักลงทุนคนอื่นยอมเสนอเพื่อซื้อบริษัท

ถ้าจะให้คำนวณง่าย ๆ ก็คือ ราคาต่อหุ้น คูณด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท

มูลค่าบริษัทนี้ถ้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็จะเรียกว่า “Market Cap”

เช่น บริษัท Meta เจ้าของเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม มีมูลค่าบริษัท 29,000,000 ล้านบาท 

ด้วยมูลค่ามากขนาดนี้ เราก็น่าจะคิดว่าทุนจดทะเบียนของบริษัทต้องสูงแน่ ๆ 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุนจดทะเบียนของ Meta มีมูลค่าเพียง 2 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 14 ล้านของมูลค่าบริษัท ในปัจจุบัน 

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมถึงต่างกันขนาดนี้ ?

เรามาเริ่มกันที่ทุนจดทะเบียนกันก่อน อธิบายง่าย ๆ ก็คือ “เงิน” ที่เราใส่เข้าไปในบริษัทแห่งนี้เพื่อทำธุรกิจ

ลองนึกภาพตามว่าเราและเพื่อน เปิดบริษัท กอไก่ จำกัด โดยทุกคนจะร่วมลงทุนในบริษัทแห่งนี้ และแบ่งหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน 

- ทุนจดทะเบียนทั้งหมด 1,000,000 บาท

- จำนวนหุ้นทั้งหมด 100,000 หุ้น

- ราคาพาร์ หรือทุนจดทะเบียนต่อหุ้น เท่ากับ 10 บาท

โดยทุนจดทะเบียนทั้งหมดก็จะนำไปเป็นทุนเริ่มต้นสำหรับซื้อเครื่องมือ, วัตถุดิบ, เช่าที่ดินอาคาร รวมถึงสำรองสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ จากนั้นเราก็ไปขอจดทะเบียนกับนายทะเบียน อย่างในกรณีของประเทศไทย 

ก็จะเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ข้อดีอย่างหนึ่งของการมีทุนจดทะเบียนสูงก็คือ เรามีโอกาสได้รับงานที่มีมูลค่าสูงจากคู่ค้าได้

เนื่องจากคู่ค้าอุ่นใจได้ว่า หากเกิดความเสียหายก็สามารถเรียกร้องความรับผิดชอบได้สูงขึ้น

รวมถึงการติดต่อประมูลงานกับหน่วยราชการ หรือแม้แต่การนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็จะมีระบุทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เราสามารถเพิ่มทุนจดทะเบียนในภายหลังการจัดตั้งบริษัทได้

ถึงแม้ว่าบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงจะดูน่าเชื่อถือ แต่หากบริษัทมีผลขาดทุนทุกปี ทุนที่มีก็จะเหลือน้อย

ในทางกลับกัน หากบริษัทมีผลกำไร บริษัทก็จะมีกำไรสะสม

ซึ่งสามารถนำไปเป็นทุนสำหรับการขยายกิจการในอนาคต โดยที่ไม่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทได้เช่นกัน

โดยในแต่ละประเภทธุรกิจ ก็จะมีลักษณะการใช้ทุนจดทะเบียนมากน้อยที่ต่างกัน

อย่างในกรณีของบริษัทเทคโนโลยียุคใหม่ ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียนสูง 

เพราะไม่ต้องใช้เงินมากในการเริ่มต้น

สวนทางกับธุรกิจแบบที่ต้องใช้การลงทุนหนัก (Capital Intensive) เช่น ธุรกิจที่ต้องอาศัยการก่อสร้างโรงงานผลิต สร้างห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ก็จะมีทุนจดทะเบียนมากเป็นพิเศษ

จากตัวอย่างในช่วงแรกอย่าง Meta เจ้าของเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม 

ที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 2 ล้านบาท 

ก็สามารถเติบโตไปเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากถึง 29,000,000 ล้านบาทได้

ซึ่ง Meta อาจอาศัยเงินทุนจาก 2 ทาง ก็คือ

1. การใช้กำไรสะสมที่ทำได้มาขยายธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน

2. การระดมทุนจาก VC และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีราคาหุ้นที่เสนอขายที่สูงกว่ามูลค่าพาร์มาก ๆ ทำให้ไม่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นจำนวนมากในภายหลัง

ในทางกลับกัน

อย่างในกรณีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 

ที่มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 22,000 ล้านบาท แต่ธุรกิจประสบผลขาดทุน ทำให้มีการขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก

จึงทำให้มีมูลค่าบริษัทล่าสุด ก่อนถูกระงับการซื้อขายอยู่ที่เพียง 7,200 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าทุนจดทะเบียน ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเข้าใจแล้วว่าทุนจดทะเบียน และมูลค่าบริษัท ไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป

และไม่จำเป็นเลยว่าธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนสูง ๆ จะได้เปรียบ และทำให้มีมูลค่าบริษัทเยอะขึ้นตามไปด้วย

เพราะทุนจดทะเบียน บอกเราเพียงแค่ว่า

ในอดีตบริษัทนั้นใส่เงินเข้าไปในบริษัทเท่าไร

ในขณะที่มูลค่าบริษัท ก็จะเป็นมูลค่าของกิจการ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งถ้ามันมากกว่าทุนจดทะเบียนมาก ๆ นั่นก็อาจแปลว่าบริษัทนั้นสามารถเติบโตได้ดี โดยไม่ต้องใช้เงินทุนมาก นั่นเอง

ความคิดเห็น