เนเธอร์แลนด์ ประเทศเล็ก ๆ แต่พัฒนาถึงขีดสุด

 Home 

ถ้าพูดถึงเนเธอร์แลนด์ หลายคนคงนึกถึง กังหันลมและดอกทิวลิป

แต่เรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ เนเธอร์แลนด์ ยังเป็นประเทศที่สร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่หลายอย่างของโลก มาตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา

นวัตกรรมเด่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากประเทศแห่งนี้ มีอะไรบ้าง

และทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ ถึงสร้างนวัตกรรมระดับโลกได้ ?

เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปฝั่งตะวันตก

ซึ่งคำว่า “เนเธอร์” นั้น แปลว่า “ต่ำ”

เนเธอร์แลนด์ จึงแปลได้ตรง ๆ ว่า แผ่นดินที่ต่ำ

โดยสาเหตุที่ได้ชื่อแบบนี้ก็เพราะว่า พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศนั้น อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

ข้อมูลจาก World Bank ในปี 2019 ระบุว่า

เนเธอร์แลนด์ มี GDP เท่ากับ 28 ล้านล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก

และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเท่ากับ 1.6 ล้านบาทต่อปี สูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ขณะที่มีพื้นที่ประเทศ 41,865 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าพื้นที่ประเทศไทย 12 เท่า

แม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่เนเธอร์แลนด์กลับเป็นประเทศที่สามารถสร้างสิ่งที่สำคัญ ๆ ให้แก่โลก อย่างที่เราอาจไม่รู้มาก่อนว่า เกิดจากประเทศแห่งนี้

หนึ่งในรากฐานที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมของเนเธอร์แลนด์

มาจากการให้ความสำคัญกับเรื่อง “การศึกษา”

ในช่วงศตวรรษที่ 16 ดินแดนเนเธอร์แลนด์ยังถูกปกครองโดยราชสำนักสเปนซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แตกต่างจากชาวดัตช์ส่วนใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งล้วนเป็นพ่อค้าที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์

ด้วยความที่เนเธอร์แลนด์เป็นเมืองท่าที่สำคัญ เหล่าพ่อค้าจึงถูกขูดรีดภาษีจากสเปนจำนวนมาก

เมื่อทนไม่ไหว ท้ายที่สุดชาวดัตช์จึงรวมตัวกันขับไล่ผู้ปกครองชาวสเปน

จนสามารถก่อตั้งสาธารณรัฐดัตช์ที่เป็นอิสระได้สำเร็จ

และมีผู้ปกครองคนแรกคือ วิลเลิมแห่งออเรนจ์

แต่สิ่งที่เหล่าพ่อค้าชาวดัตช์เรียกร้องจากผู้ปกครองหลังแยกตัวออกจากสเปน

ไม่ใช่การยกเลิกภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ แต่กลับเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างองค์ความรู้..

Leiden University มหาวิทยาลัยแห่งแรกของเนเธอร์แลนด์จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1575

โดยเป็นจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งด้านการแพทย์ พฤกษศาสตร์ และเกษตรกรรม

ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ได้กลายมาเป็น มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในเรื่องนวัตกรรมและการสร้างผลงานวิจัยระดับแถวหน้าของยุโรป

แล้วนวัตกรรมสำคัญ ๆ ที่ถูกคิดค้นโดยชาวดัตซ์ มีอะไรบ้าง

เรามาเริ่มต้นด้วยเรื่องนวัตกรรมทางด้านการเงิน การลงทุนกันก่อน..

รู้ไหมว่า ชาวดัตช์เป็นชนชาติแรก ๆ ที่ได้คิดค้นนวัตกรรม "หุ้น" ขึ้นมา

โดยตลาดหุ้นที่ดำเนินกิจการมายาวนานที่สุดในโลก คือตลาดหุ้นอัมสเตอร์ดัม

ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 1601 หรือ 420 ปีที่แล้ว

1 ปีหลังจากจัดตั้งตลาดหุ้น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้มีการจัดตั้งบริษัท The Dutch East India Company หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า VOC (ซึ่งมาจากชื่อบริษัทในภาษาด้ตช์ Vereenigde Oostindische Compagnie) เพื่อทำธุรกิจค้าขายกับต่างประเทศ

VOC ยังถือเป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกของโลกอีกด้วย บริษัทนี้ผูกขาดการค้ากับเอเชียเป็นเวลาเกือบสองศตวรรษ และเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีอิทธิพลต่อการค้าของโลกในยุคต่อมา

ไม่เพียงเท่านั้น การระดมทุนของ VOC เพื่อเข้าตลาดหุ้นในปี 1602 ยังเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชน หรือที่เรียกว่า Initial Public Offering หรือ IPO เป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์โลกการเงินอีกด้วย

ชาวดัตซ์ยังเป็นชนชาติแรกที่ริเริ่มแนวคิด การวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางเทคนิค หรือ การใช้กราฟเพื่อคาดการณ์ราคาหลักทรัพย์ ในปี 1688

และเป็นชนชาติแรกที่ริเริ่มการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1774

พูดง่าย ๆ ว่า ความยิ่งใหญ่ของตลาดการเงิน การลงทุน และตลาดหุ้นในวันนี้

มีจุดเริ่มต้นมาจากเนเธอร์แลนด์นั่นเอง..

ต่อมา คือการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม

การที่มีพื้นที่กว่า 1 ใน 3 อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้ชาวดัตช์มีความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำและการชลประทานมาอย่างยาวนาน ซึ่งต่อยอดมาเป็นเกษตรกรรมล้ำสมัยในปัจจุบัน

รู้ไหมว่าเนเธอร์แลนด์ ชาติที่มีพื้นที่เพียง 41,865 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าประเทศไทย 12 เท่า แต่กลับสามารถส่งออกสินค้าเกษตรโดยมีมูลค่ามากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

โดยในปี 2019

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของเนเธอร์แลนด์นั้นมีมูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านบาท

ทุกวันนี้ 1 ใน 3 ของการส่งออกพริก มะเขือเทศ และแตงกวาทั่วโลกนั้น ล้วนมาจากเนเธอร์แลนด์ และยังเป็นประเทศที่ส่งออกดอกไม้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

โดยมีมูลค่ามากกว่า 138,000 ล้านบาท

ทั้งรัฐบาล สถาบันการศึกษา และบริษัทในภาคเอกชน ต่างร่วมกันทำวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านการเกษตรและอาหาร

โดยใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตให้น้อยที่สุด

เกษตรกรชาวดัตช์ นำแนวคิดเรื่อง การทำเกษตรด้วยความแม่นยำสูง (Precision Farming)

ที่มีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยวิเคราะห์ค่าเคมีของดิน ปริมาณน้ำ สารอาหาร สำหรับใช้ในการเจริญเติบโตของพืชอย่างละเอียด

นอกจากนวัตกรรมทางด้านการเงินและด้านเกษตรกรรมแล้ว

เนเธอร์แลนด์ยังคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมอีกหลายอย่าง

ที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนบนโลกใบนี้ตั้งแต่อดีตเรื่อยมา

ไม่ว่าจะเป็น

- กล้องไมโครสโคป ถูกผลิตโดย Hans และ Zacharias Jansen 2 พ่อลูกชาวดัตช์ ในปี 1590

- เทปคาสเซตต์ ถูกพัฒนาขึ้นโดย Philips ผู้ผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติดัตช์ ในปี 1960

- สัญญาณ Bluetooth มีผู้ร่วมพัฒนาเป็นวิศวกรชาวดัตช์ที่ชื่อว่า Jaap Haartsen ในปี 1990

- สัญญาณ Wi-Fi ถูกพัฒนาและใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1998 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

เนเธอร์แลนด์ก่อตั้งประเทศจากผู้คนที่เลือกใฝ่หาความรู้ มีความพยายามต่อสู้กับทั้งธรรมชาติและผู้รุกราน แต่ความสำเร็จต่าง ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างภาครัฐบาล ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชน ซึ่งล้วนให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน

ในวันนี้ เนเธอร์แลนด์มีมหาวิทยาลัย Wageningen University & Research

เป็นมหาวิทยาลัยด้านเกษตรกรรมอันดับ 1 ของโลก ที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมชั้นนำมากมาย

มีบริษัท Philips ที่ได้ต่อยอดจากบริษัทเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์กลายมาเป็นบริษัทเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของโลก

และบริษัท ASML บริษัทผลิตเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการพิมพ์ลายลงบนชิป

ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมชิปทั่วโลก

ความมุ่งมั่นและทุ่มเททางด้านนวัตกรรมของเนเธอร์แลนด์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้ ประเทศเล็ก ๆแห่งนี้ กลายมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

หากย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 16

คงต้องขอบคุณเหล่าพ่อค้าชาวดัตช์ ถึงแม้จะถูกขูดรีดภาษีมานาน แต่กลับเลือกไม่ขอยกเลิกภาษีจากผู้ปกครอง แล้วเลือกขอสร้างมหาวิทยาลัยเพื่อต่อยอดองค์ความรู้

พ่อค้าเหล่านี้อาจมองการณ์ไกลมาถึง 400 ปีข้างหน้า

ว่าการลงทุนที่ดีที่สุด คงจะเป็นอะไรไม่ได้ นอกจาก “การลงทุนในความรู้”

ที่มา 

ความคิดเห็น